รวมวิธีจัดการเรื่องที่ดินก่อนจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน

ออกแบบบ้านโมเดิร์น

บริษัทรับสร้างบ้าน Royal House เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การสร้างบ้านสักหลัง ล้วนเป็นเป้าหมายชีวิตของใครหลาย ๆ คน แต่ก็อย่าลืมว่าการสร้างบ้านไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยงาม และฟังก์ชันภายในบ้านเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะเริ่มสร้างบ้าน สิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านหลายท่านต่างลืมคำนึงถึง คือ การเตรียมที่ดินให้พร้อม เพื่อป้องกันปัญหาด้านโครงสร้าง ทั้งยังช่วยลดปัญหารบกวนการอยู่อาศัยจากสัตว์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ในบทความนี้ Royal House จะพาทุกคนไปเตรียมที่ดิน และเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถมดินที่ควรรู้ก่อนจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน เพื่อให้ได้บ้านในฝันของทุกคนได้อย่างสบายใจ หมดกังวลเรื่องโครงสร้างทรุดโทรมหลังเข้าอยู่อาศัย ใครที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้านในฝัน มาดูไปพร้อมกันเลย
ทำความเข้าใจ! ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถมดิน
หลังจากที่คุณได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ในมือ เชื่อว่าหลายท่านคงอยากเริ่มลงมือสร้างบ้านในฝันกันแล้ว แต่ก่อนที่จะเริ่มลงมือจัดการกับที่ดิน Royal House อยากให้คุณมาดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถมดินกันก่อน เพื่อให้การสร้างบ้านดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งตามพระราชบัญญัติการขุดดินถมดิน พ.ศ. 2543 ได้มีการระบุข้อบังคับเกี่ยวกับการถมที่ดินไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
กรณีขุดดินลึกจากระดับพื้นเกิน 3 เมตร
หากเจ้าของที่ดินต้องการขุดดินลึกเกิน 3 เมตร จะต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อยก่อนดำเนินการ โดยจะต้องยื่นเอกสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับแผนผังบริเวณที่จะขุดดิน แผนผังแสดงเขตที่ดิน วิธีการขุด และระยะเวลาในการขุดดิน รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ตามที่พนักงานท้องถิ่นกำหนด เมื่อแจ้งแล้วหากดำเนินการแจ้งโดยถูกต้องครบถ้วน ทางเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกใบรับแจ้งให้ภายใน 7 วัน
กรณีขุดดินลึกจากระดับพื้นไม่เกิน 3 เมตร
การขุดดินโดยมีความลึกจากระดับพื้นดินไม่เกิน 3 เมตร แต่อยู่ใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะน้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อดินที่ขุด เจ้าของที่ดินต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดินให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันดินทลายลงสู่พื้นที่ข้างเคียง
กรณีถมที่ดินสูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียง
หากต้องการถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินที่อยู่ใกล้เคียง และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องจัดให้มีการระบายน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้เจ้าของที่ดินข้างเคียง หรือเพื่อนบ้านต้องเดือดร้อนตามไปด้วย

นอกจากนี้ เจ้าของที่ดินจะต้องทำเรื่องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เรียบร้อยก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย พระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 35 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รู้ก่อนสร้าง ! เทคนิคเตรียมที่ดิน ก่อนจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน
ก่อนที่จะเริ่มสร้างบ้าน และเลือกจ้างบริษัทรับสร้างบ้านเข้ามาเนรมิตบ้านในฝันของคุณ สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเป็นอันดับแรก คือ การเตรียมที่ดินให้พร้อม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อโครงสร้างบ้าน และป้องกันปัญหาดินทรุดในระยะยาว ซึ่งเราได้เตรียมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเตรียมที่ดิน มาไว้ให้เจ้าของบ้านได้รู้กันแล้ว ดังนี้
สำรวจที่ดินให้เรียบร้อย
ในขั้นตอนแรกเจ้าของที่ดินควรตรวจสอบลักษณะของพื้นที่เบื้องต้นอย่างถี่ถ้วน เพื่อทราบว่าข้อจำกัดของที่ดินนั้น ๆ มีอะไรบ้าง รวมถึงกำหนดระดับความสูงของดินที่จะถมให้เรียบร้อย โดยการสำรวจที่ดินควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

สังเกตต้นไม้ที่ในที่ดิน เพื่อดูว่าเป็นดินแห้งหรือมีความชื้นแฉะมากน้อยแค่ไหน หากในที่ดินมีต้นกระถิน หรือมะขามเทศ แสดงว่าที่ดินบริเวณนั้นแห้ง แต่หากมีต้นกก ต้นอ้อ และธูปฤาษี แสดงว่าเป็นพื้นดินมีความชื้นแฉะสูง และสภาพดินมีความอ่อนตัว

เช็กประวัติการเกิดน้ำท่วม เพื่อคำนวณค่าความหนาแน่นของดิน และการยุบตัว หากดินมีความอ่อนตัวสูง ต้นทุนค่าถมดินจะสูงขึ้นไปด้วย

เลือกดินที่ใช้ถมให้เหมาะสม
แม้ว่าการสร้างบ้านจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่การเลือกใช้ดินสำหรับนำมาถมที่ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากเลือกใช้ดินผิดประเภท หรือเลือกใช้ดินที่ไม่ได้คุณภาพ อาจเกิดปัญหาโครงสร้างบ้านทรุดตัวลงในภายหลังได้ ซึ่งดินที่เหมาะแก่การสร้างบ้าน มีดังนี้

ดินทั่วไป เป็นดินชิ้นสองหรือชิ้นสาม มีราคาถูก เนื้อดินมีความแน่นจึงได้รับความนิยมในการถมดินอย่างยิ่ง

ดินดาน ถือเป็นดินที่ใช้สำหรับถมที่ และปลูกสร้างบ้านได้ทันที เพราะเป็นดินแห้ง เหมาะแก่การนำมาถมที่ เพราะเมื่อถมแล้วสามารถก่อสร้างได้ทันที

ดินลูกรัง เป็นลักษณะดินแห้งผสมหิน เมื่อนำมาถมที่จะสามารถบดอัดได้ดี และก่อสร้างได้ทันที

ดินทราย แม้จะมีราคาถูก แต่เนื้อดินมีลักษณะไม่อุ้มน้ำ หากนำดินทรายมาถมที่ต้องมีการบดอัดอย่างดี เพื่อป้องกันดินไหล และทรุดตัวในอนาคต

ระดับความสูงของพื้นที่
ก่อนเริ่มลงมือถมดิน จะต้องกำหนดระยะความสูงของดินที่จะถม ซึ่งควรพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ระดับของพื้นถนน ระดับของพื้นที่ปกติที่น้ำท่วมถึง และความสูงของบ้านหลังอื่น ๆ หรือที่ดินเปล่า เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักจะถมดินให้สูงกว่าถนนประมาณ 50-80 เซนติเมตร ทั้งนี้ การถมดินแต่ละครั้งควรถมเผื่อไว้สำหรับการยุบตัวของดินในอนาคต
ระยะเวลาในการทิ้งพื้นที่หลังถมดิน
เมื่อถมดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรดำเนินการสร้างบ้านทันที เพื่อให้หน้าดินมีการเซตตัว และป้องกันไม่ให้เกิดการทรุดเพิ่มขึ้น หากต้องการย่นระยะเวลาทิ้งพื้นที่ สามารถใช้รถบดอัดดิน เพื่อช่วยให้หน้าดินมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยระยะเวลาที่ควรทิ้งพื้นที่ให้หน้าดินเซตตัว มีความแตกต่างกันออกไปตามระดับการถมดิน ได้แก่

ระดับการถมไม่เกิน 50 ซม. เป็นการถมที่ไม่มีผลกับเสาเข็ม จึงสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที

ระดับการถม 50-200 ซม. จากดินเดิม หลังถมแล้วควรทิ้งเวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน

ระดับการถมมากกว่า 200 ซม. ควรถมดินเตรียมไว้ก่อนก่อสร้าง และทิ้งเวลาไว้มากกว่า 1 ปี

แม้ว่าการเตรียมพื้นที่ก่อนสร้างบ้าน จะเป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่พอสมควร แต่ถ้าคุณมีแผนจะสร้างบ้านในฝันก็อย่าลืมศึกษาเทคนิคเหล่านี้เอาไว้ เพื่อเช็กให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับเหมาที่จ้างมานั้น ให้ความใส่ใจกับการเตรียมพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทรับเหมาบางที่ต่างมีกลลวงมากมายที่เจ้าของบ้านอย่างเราจับสังเกตไม่ทัน

หากคุณมีความกังวลดังกล่าว อย่าลืมมองหาบริษัทรับสร้างบ้านที่ไว้ใจได้อย่าง Royal House เราเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 38 ปี มาพร้อมกับงานคุณภาพ ทั้งยังมีบริการให้คำปรึกษา รวมถึงการให้บริการรับสร้างบ้าน ทั้งในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ หากต้องการปรึกษา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อเราได้ที่ Line: @royalhouse

Edit
Pub: 29 Apr 2024 10:05 UTC
Views: 4